- houseofsoap Design
Beauty Talk EP.2 : Brand Design

อยากสวย แต่จะสวยถูกใจ หรือจะเป็น สวยขายดี
สวัสดีแฟนเพจทุกท่านค่ะ กลับมาพบกับเอชอีกครั้งนะคะ ใน EP.2 มาคราวนี้ ก็ยังมีเรื่องการสร้างแบรนด์มาแบ่งปันอีกเช่นเคย เผื่อผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นทำแบรนด์เครื่องสำอางนั้น จะได้มีทิศทางในการวางแผนที่ถูกต้องนะคะ
โดยวันนี้อีกหนึ่งเรื่องราวที่นำมาเล่าสู่กันฟัง จะเป็นเทคนิคการออกแบบภาพลักษณ์ของสินค้า ว่าแบบไหนถึงจะเหมาะกับสินค้าของเรา มันมีหลักขั้นตอนอย่างไรรึเปล่า ...
--
*** Brand Design คืออะไร ?
Brand Design คือภาพลักษณ์ที่ต้องการนำเสนอต่อผู้ซื้อ ทั้งในเรื่องของ แนวทาง วิธีคิด และสไตล์ของสินค้า ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัวบรรจุภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงภาพลักษณ์ของสื่อโฆษณาทุกชนิด หรือแม้แต่ภาพลักษณ์ขององค์กรเองก็ตาม
ทั้งหมดนี้ มีส่วนช่วยผลักดันให้ตัวสินค้านั้นน่าใช้ และส่งผลให้ผู้ซื้อเกิดความเชื่อมั่นในตัวสินค้าอีกด้วย
Brand Design ถ้าเปรียบแบบเห็นภาพง่าย ๆ นั่นก็คือ “ การเเต่งตัว ”
หากเปรียบเราเป็นสินค้า เราจะแต่งตัวอย่างไรให้น่าสนใจ แต่งตัวอย่างไร ให้ดูน่ารัก หรือแต่งแบบไหนให้น่าเชื่อถือ
ถ้าคิดไม่ออก ว่าจะเอาสวยแบบไหน ยกให้เป็นหน้าที่ของคนออกแบบได้ไหม หรือ แค่สวยก็พอรีเปล่า ...
นี่เป็นหนึ่งคำถาม ที่ผู้เริ่มต้นทำแบรนด์ มักมีปัญหาเสมอว่า ตัวเองนั้นต้องการสไตล์ไหน เพราะบางทีตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าชอบแนวไหนเลยด้วยซ้ำ เห็นแบบไหนสวยก็คล้อยตามไปหมด บางทีก็อยากมีสินค้าที่หน้าตา สวยหวาน บางครั้ง Simple ก็ดีนะ ดูสะอาดเข้าถึงง่าย แต่ก็อยากขายแพง สีทอง ๆ เงิน ๆ ก็ดูแพงดี
จนบางครั้งกลายเป็นปัญหาของนักออกแบบ เพราะเจ้าของมักจะบอกคนออกแบบว่า เอาแบบไหนก็ได้ หวาน ๆ ก็ได้ ดูผู้หญิงดี คนออกแบบก็จะทำงานเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร แต่สุดท้าย คนตัดสินใจก็เลือกแค่ "ความสวย" เป็นพอ
สวยพอใจฉันเเล้วหล่ะ ... จึงกลายเป็นความรู้สึกว่าสินค้านั้นดูดีแล้ว ต่อให้ไม่น่าซื้อ ฉันก็อยากขาย
เพราะความสวยนั้นครอบงำทุกสิ่ง จนคิดว่าจะขายดีเพราะเเค่หน้าตา บางคน ถึงกับลดความใส่ใจในคุณภาพเลยก็มี
แต่ตลาดสินค้าในปัจจุบัน ก็แสดงให้เห็นเเล้วว่า สวย! แต่! เจ๊ง! มีถมไป เดียวนี้ใครก็แข่งกันที่ความสวยไปซะหมด
แต่จะทำอย่างไร ให้เราโดดเด่นออกมาได้หล่ะ และนี่คือคำตอบของการออกแบบเพื่อการขายที่ดีที่สุด ...
--
เเล้วสวยขายดีเป็นอย่างไร ? มีหลักการไหม เทคนิคการออกแบบที่ดีที่สุดสำหรับสินค้าของเรา สิ่งที่ควรจำไว้เลยเป็นสอ่งแรกเลย นั่นก็คือ ความชอบของเราไม่ใช่คำตอบของลูกค้า
ความสวยของคนเราไม่เหมือนกัน ก็เหมือนความอร่อยของคนเราไม่เหมือนกัน ร้านนี้อาจไม่อร่อยสำหรับคนนี้ แต่อาจอร่อยสำหรับอีกคน ความสวยจึงไม่ใช่ทางเลือกทางการตลาดค่ะ
แต่ความสวยที่บ่งบอกถึงคุณภาพ สรรพคุณสินค้า สถานที่ที่สินค้าจะไปขาย จะเป็นแนวทางในการออกแบบของเราได้
ในหลักการเบื้องต้น 4 ข้อ ของการค้นหาความสวยให้กับผลิตภัณฑ์ของเรา
ยกตัวอย่าง l กรณีผลิตสบู่ออกมาขาย เอชจะลองเขียนคำถามตั้งต้น เเละ ถอดแนวคิดออกมาเป็นตัวอย่าง
👉 คำถาม ข้อที่ 1 : Value เราต้องประเมินจุดเด่น และจุดด้อย ของสินค้าเราเเละคู่เเข่งก่อน ว่ามีข้อไหนที่เหมือนกัน ข้อไหนที่แตกต่างกัน จุดเด่นด้านไหนที่พอจะนำมาเป็นจุดเเข็งของสินค้าเราได้ หรือเป็นจุดเเข็งที่ทำให้กลายเป็นที่สนใจในวงกว้างได้
สบู่ของเอช l จุดเด่นหลัก ๆ คือ เน้นความสะอาด ถึงขั้นอนามัยปลอดเชื้อ ซึ่งในตลาดยังมีคู่เเข่งน้อย
แนวคิดการออกแบบ l ต้องมีความเรียบง่าย ลวดลายไม่เยอะ ไม่ออกทางน่ารัก เพราะอยากได้ความน่าเชื่อถือ ดูเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน ไม่ออกเเนวแฟชั่น
👉 คำถาม ข้อที่ 2 : Price & Location วางแผนการตลาดว่าเราจะไปขายที่ไหนในระยะเริ่มต้น ปลายทางต้องการไปสู่จุดไหน และราคาขายเท่าไหร่
สบู่ของเอช l ราคาขาย 45 บาท เน้นขายในห้างสรรพสินค้า กลุ่มลูกค้าจะมีฐานะระดับล่างถึงปานกลาง และรักในความสะอาด
แนวคิดการออกแบบ l ถ้าไม่ได้ขายราคาแพง การออกแบบก็จะไม่ใช่สไตล์สวยไฮโซ ไม่ใช่ Modern จ๋า ไม่ใช่ Luxury จ๋า เพราะถ้าทำให้ดูแพง จะทำให้สินค้าดูราคาสูงจนเกินไป กลุ่มลูกค้าที่สามารถซื้อในราคา 45 บาท จะไม่กล้าหยิบ
ฉะนั้นการออกแบบ จะต้องสื่อสารชัดเจน สร้างความเข้าใจที่หน้ากล่องชัดเจน เพราะของราคาไม่แพง ทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่าย จึงต้องสร้างความชัดเจนให้เร็วที่สุด
ต่างกับสินค้าราคาแพง ๆ ที่เราพบเห็นกัน บางยี่ห้อ หน้ากล่องมีแค่ชื่อแบรนด์อย่างเดียว วางตัวเรียบ ๆ หรู ๆ ให้คนไปคนหาเอาเอง (แต่เเบรนด์แพง ๆ มักโน้มน้าวด้วยการตลาดด้านอื่นผสม ให้เกิดความคลั่งไคล้ และเสพติดชื่อเสียงมากกว่าคุณภาพ)
👉 คำถาม ข้อที่ 3 : Target เจาะกลุ่มลูกค้าประเภทไหน ฐานลูกค้าหลักของเราอยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่
สบู่ของเอช l เจาะกลุ่มวัยรุ่นอายุ 18 - 25 ปี ฐานลูกค้าหลัก ก็จะเป็น นักศึกษา วัยเริ่มต้นทำงาน
แนวคิดการออกแบบ l นอกจากทำให้ดูเรียบ และเข้าใจง่ายแล้ว ก็ต้องไปค้นหาตัวอย่างงาน ที่วัยรุ่นนั้นชอบเพิ่มเติม เพื่อนำมาผสม ในโทนหลักของงาน ดังข้อที่ 1 และข้อที่ 2
เรื่องของสี เช่น เราต้องการสื่อถึงความสะอาด อนามัย ก็สามารถเลือกใช้โทนสีฟ้า หรือเขียว แต่จะเลือกใช้โทนสีที่อ่อนลง เพื่อไม่ให้ดูจริงจังหรือแก่ไป สามารถใช้สีฟ้าหวาน ๆ หรือเขียวอ่อน เป็นต้น ให้สีสันของสินค้ามีความสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายได้
👉 คำถาม ข้อที่ 4 : Element สินค้าเรามีส่วนผสม จุดเด่นอะไรเป็นพิเศษรึเปล่า
สบู่ของเอช l มีส่วนผสมของดอกซากุระเเละเยื่อไผ่
แนวคิดการออกแบบ l นำลายเส้นของดอกซากุระมาตกแต่ง หรือลายเส้นไม้ไผ่ประกอบด้วยก็ได้เหมือนกัน แต่ยังคง Concept เรียบ ๆ เข้าใจง่าย แปลว่าการจัดวาง ต้องไม่ออกเเนวรกนั่นเอง
--
จาก 4 หัวข้อข้างต้นที่เอชได้ยกตัวอย่างมานั้น ก็พอจะทำให้รู้เเล้วว่า สบู่อนามัยของเอช ที่มีส่วนผสมของดอกซากุระเเละเยื่อไผ่นั้น จะออกมาในเเนวทางที่ ดูเรียบ สะอาด ไม่รก ใช้สีเขียวอ่อน ตกเเต่งด้วยลายดอกซากุระพองาม ออกแบบเเนวทางที่วัยรุ่นชื่นชอบ
ซึ่งแนวทางนี้ มันอาจจะไม่ใช่สไตล์ของเจ้าของผลิตภัณฑ์ ที่อาจจะชอบเเนววินเทจ ชอบแนวหรูหรา ชอบเเนวการ์ตูน
แต่คำตอบของการออกแบบผลิตภัณฑ์ของคุณ ไม่ได้ยึดหลักจากสไตล์ของคุณ แต่ยึดหลักจากสินค้าเเละกลุ่มเป้าหมายของคุณต่างหาก
ฉะนั้นอย่าได้แคร์ ถ้าคุณนั้นไฮโซ มีเงินเยอะ แต่งตัวหรู แต่กลับผลิตสบู่หน้าตาน่ารักออกมาขาย ถ้าสุดท้ายปลายทางเเล้ว มันสามารถพาสินค้าของคุณ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
อยากมีกล่องสบู่สวยงามหรูหรา ไว้ตั้งโชว์ในบ้าน หรืออยากจะมีกล่องหน้าตาบ้าน ๆ ที่ขายได้ล้านก้อน
--
📌 เเล้วใน EP. ถัดไป เอชจะมาเล่าเรื่องอะไรเกี่ยวกับการทำ Brand อีกนั้น ฝากติดตามและเป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ
Make Great Together ก้าวสู่ความสำเร็จไปด้วยกัน 🔖 ติดตามข่าวสารต่างๆ หรือโปรโมชั่นอัพเดต 👉🏼 ได้ทาง http://bit.ly/2gVy01i Line@ ID : @houseofsoap.th